ข้อห้ามปฏิบัติ วันสารทจีน 2566
วันสารทจีน ปี 2566 ตรงกับวันพุธที่ 30 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน เทศกาลสารทจีน เป็นเทศกาลใหญ่ 1 ใน 8 เทศกาลสำคัญประจำปีของจีน ส่วนในไทยสารทจีนถือเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ 2 รองจากตรุษจีน
ประวัติวันสารทจีน
เทศกาลสารทจีน หรือ ประเพณีสารทจีนเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่ ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน บางครั้งชาวจีนจึงเรียกวันดังกล่าวว่า กุ่ย เจี๋ย หรือ หวางเหรินเจี๋ย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือ วันเทศกาลจงเยฺวี๋ยน วันเทศกาล ของจีน การไหว้สารทจีนตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิดเปิด ให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญ ซึ่งในรอบหนึ่งปีชาวจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ 8 ครั้ง เรียกว่าไหว้ 8 เทศกาลโป๊ะโจ่ย และวันสารทจีนยังเป็นวันที่เช็งฮีไต๋ตี๋จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนรู้สึกสงสารวิญญาณ จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นรกจึงเปิดประตู เพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญ ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่าวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 เป็นวันซึ่งวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้กลับมาเยือนโลกมนุษย์เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวของตน จึงได้ทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน ชาวจีนได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอด ด้วยการเซ่นไหว้ และจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยก เพื่อให้บรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตนมารับอาหาร ส่วนในบ้านเป็นของญาติและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งหากไม่มีการไหว้วิญญาณเร่ร่อนด้วยแล้ว อาจทำให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับถูกแย่งอาหารก็เป็นได้
ความหมาย "สารทจีน"
คำว่า สารท เป็นคำมาจากภาษาบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ โดยนำพืชพันธุ์ธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์
ในทางความเชื่อของชาวจีน สารทจีน เป็นเทศกาลที่ลูกหลานแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ วันสารทจีนตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ของจีน บางตำนานว่าเป็นวันที่ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
เนื่องจากเดือน 7 นี้ถือเป็นเดือนผี ซึ่งประตูนรกจะเปิดให้ผีทั้งหลายมารับส่วนบุญ ชาวจีนจึงจัดพิธีไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตอนสายจะไหว้บรรพบุรุษ และตอนบ่ายจะไหว้ผี หรือวิญญาณพเนจร ซึ่งไม่มีลูกหลานกราบไหว้ ของไหว้จะประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ของไหว้ที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง ขนมเทียน นอกนั้นเป็นผลไม้ น้ำชาหรือเหล้า และมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองด้วย
พิธีไหว้สารทจีน
การไหว้เจ้าที่ จะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย สายๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้าน นิยมไหว้ตอนบ่าย ถ้าไหว้พร้อมกัน ให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้
ข้อห้ามปฏิบัติเทศกาลสารทจีน
1. ห้ามแต่งงาน
ชาวไทยเชื้อสายจีนถือเป็นเดือนปล่อยผี เดือนที่ไม่เป็นมงคล
2. ห้ามเดินทางไกล
ความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่าวันสารทจีนเป็นวันประตูนรกเปิด การออกเดินทางไกลอาจจะทำให้มีโอกาสประสบอุบัติเหตุได้มากกว่าช่วงอื่น ๆ
3. ห้ามออกจากบ้านช่วงกลางคืน
ความเชื่อเรื่องประตูนรกเปิดในวันสารทจีน ว่าวิญญาณของคนตายจะออกมาเดินตามถนนในตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ในยามวิกาลจึงไม่ควรออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เพราะอาจพบเจอวิญญาณ
4. ห้ามซื้อบ้าน-ย้ายบ้าน
เพราะเชื่อว่าวิญญาณอาจไปสิงอยู่ในที่เหล่านั้นในขณะที่มันว่างอยู่
5. ห้ามเริ่มงานก่อสร้างใดๆ
เพราะเชื่อว่าอาจรบกวนวิญญาณของบรรพบุรุษที่อยู่ที่บ้านได้
6. ห้ามดำเนินการเริ่มธุรกิจใดๆ
เพราะมีความเชื่อว่าเป็นเดือนที่มีวันประตูผีเปิด จะทำให้ธุรกิจ กิจการต่างๆ ไม่ราบรื่น
7. ห้ามว่ายน้ำตอนกลางคืน
เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณที่จมน้ำตาย มักจะออกมาเสาะหาตัวตายตัวแทนกันในช่วงวันสารทจีน
อย่างไรก็ดีความเชื่อและข้อห้ามในวันสารทจีนเป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น
...........................................
วันจ่าย วันไหว้สารทจีน 2566 ตรงกับวันไหน
วันจ่าย วันไหว้สารทจีน 2566 วันจ่าย คือ 29 สิงหาคม หรือก่อนหน้านั้น ส่วนวันสารทจีน 2566 ตรงกับช่วงก่อนวันที่ 30 สิงหาคม
การไหว้ในเทศกาลสารทจีน แบ่งออกเป็น 3 ชุด ดังนี้
ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่ จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวานขนมกุยช่าย|กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใส ๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดสำหรับไหว้สัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า สัมภเวสี หรือ ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้านของไหว้จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการและที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองจัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
ขนมที่ใช้ไหว้ในเทศกาลสารทจีน
สำหรับการไหว้ขนมเข่งขนมเทียนในเทศกาลสารทจีนนี้ ที่เมืองจีนไม่มี ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี
ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ
Comments