คเณศจตุรถี วันสักการะพระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จ
เทศกาลคเณศจตุรถี คืออะไร
คเณศจตุรถี คือ พิธีสักการะพระคเณศ โดยถือว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระองค์ จตุรถี แปลว่า ลำดับที่ 4 ซึ่งหมายถึงวันขึ้น 4 ค่ำในเดือนภัทรบท หรือขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในช่วงราว ๆ กลางเดือนสิงหาคม และกันยายนของทุกปี
ในพิธีนี้จะมีการปั้นเทวรูปพระคเณศขึ้นจากวัสดุธรรมชาติเช่นดินเหนียว หรือวัสดุอื่น ๆ จากนั้นจะสร้างมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูปดังกล่าว และเชิญพราหมณ์มาทำพิธี "ปราณประติษฐา" หรือการทำให้เทวรูปนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา จากนั้นจะทำการบูชา 16 ขั้นตอนตามหลักศาสนาที่เรียกว่า โษทโศปจาร เช่น การสรงด้วยนม ด้วยน้ำผึ้ง การบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องบูชาต่าง ๆ ตามด้วยสวดมนต์ที่เรียกว่า "คเณศาถรวศีรษะ" หรือ คเณศอุปนิษัท ในคัมภีร์พระเวท และทำการบูชาด้วยประทีป หรือการอารตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย
การประดิษฐานพระคเณศจะเริ่มประดิษฐานไว้ตั้งแต่วันขึ้น 4 ค่ำไปจนถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ในทุก ๆ วันจะมีการชุมนุมกันสวดมนต์ และทำพิธีอารตีในเวลาค่ำ เมื่อถึงวันที่ 11 ที่เรียกว่า พิธีวิสรชัน หรือการส่งเทพเจ้ากลับเทวโลก ในวันนั้นจะมีการจัดขบวนแห่เทวรูปไปตามท้องถนน พร้อมด้วยการบรรเลงดนตรีและการเต้นรำอย่างสนุกสนาน โดยจะมีการร้องตะโกนถวายพระพรแด่พระคเณศ การแห่เทวรูปจะแห่ไปที่ทะเล หรือที่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ และนำเทวรูปนั้นไปลอยลงในทะเลหรือแม่น้ำ เท่ากับได้ส่งพระคเณศกลับยังเทวโลก ซึ่งชาวอินเดียยังเชื่อว่าการที่เทวรูปนั้นสลายสู่สภาวะเดิมเป็นการแสดงสภาวะของธรรมชาติ และถือว่าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก เพราะแม่น้ำและดินจะได้รับพรจากองค์เทวรูปที่ได้ผ่านพิธีกรรมไปแล้วด้วย
Comments