บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร บทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ เทวดาประจำตัว เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งบทกรวดน้ำแบบสั้น, บทกรวดน้ำให้เทวดาประจำตัว, บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร และบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร
บทกรวดน้ำแบบสั้น
อิทัง เม ญาตินัง โหนตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขด้วยเทอญ
บทกรวดน้ำให้เทวดาประจำตัว
ตั้งนะโม 3 จบ และกล่าว
นะ โม พุท ธา ยะ ลูกขอเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์โปรดเสด็จมาเป็นประธาน อิทัง สัพพะเทวานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่รักษาตัวข้าพเจ้า ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข ข้าพเจ้าขอฝากน้ำอุทิศนี้ไปกับพระแม่ธรณี พระแม่คงคา โปรดมาเป็นทิพย์พยาน ขออานิสงค์ผลบุญกุศลอันใดที่ข้าพเจ้า (กล่าวชื่อจริง-นามสกุล) ได้กระทำในวันนี้ ทั้งหมด ทั้งปวง ข้าพเจ้า ขออุทิศให้กับเทวดาทั้งหลายทั้งปวงของข้าพเจ้า ที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ที่ทำให้ข้าพเจ้าพ้นจากความทุกข์ (กล่าวเรื่องที่ประสบปัญหา)
ไม่ว่าท่านจะมาจากชาติใด ภพใดก็ตาม ทั้งระลึกได้ก็ดี และระลึกไม่ได้ก็ดี ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภพภูมิใด ขอให้ท่านจงมารับกุศล ที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ในครั้งนี้ โดยมาให้ถึงจุดหมาย อย่าแวะอย่าเวียนที่ใด ให้กุศลถึงทั่วทุกท่าน ทุกตน ทุกภพ ทุกภูมิ
ขออานิสงค์ผลบุญดังกล่าวนี้ โปรดกลายเป็นโภคทรัพย์ ตามที่ท่านปราถนาทุกประการ ตั้งแต่บัดนี้ เวลานี้ เป็นต้นไปด้วยเทอญ
บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร
ข้าพเจ้าขออุทิศผลบุญกุศล จากการเจริญภาวนานี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใด หรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญแก่ข้าพเจ้า ด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ
บทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้ามีความสุข
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้ามีความสุข
อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้ามีความสุข
อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความสุขทั่วหน้ากันเทอญ
วิธีบูชาพระพุทธรูป เสริมมงคลชีวิต
วันนี้ อาจารย์ได้นำการบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง ตามหลักโบราณจารย์ เสริมมงคลในชีวิตมาฝากค่ะ ท่านใดที่ยังไม่ทราบวิธีการบูชาที่ถูกต้อง ควรอ่านเพื่อความงคลในชีวิตกันนะคะ
วิธีบูชาพระพุทธรูป
สำหรับเรื่องการบูชาพระ
กับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธนั้นถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลนั้นซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น จะกล่าวถึงการบูชาพระซึ่งหมายถึงทั้ง พระพุทธรูป พระเครื่อง สิ่งที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ รวมถึงพระเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ บริโภคเจดีย์ หรือ อุเทสิกเจดีย์ ก็ตาม ล้วนแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เวลาไหว้ ใจจะต้องน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องกระตุ้นให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ (และยังสามารถไปใช้ได้กับทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นองค์เทพเจ้าวัตถุมงคลต่างๆ ล้วนใช้หลักการเดียวกันทั้งสิ้นในเบื้องต้น ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ที่หลายอาจจะบูชาแบบไม่เข้าใจ ที่เน้นเอาเปลือกมากกว่าแก่น)
ควรไหว้ด้วยความสำนึกในพระคุณงามความดี พระเมตตา พระมหากรุณา พระบริสุทธิคุณของพระพุทธองค์ นี่คือคุณประโยชน์ เบื้องต้น แต่เป็นจุดที่สำคัญยิ่งในการบูชาพระ เป็นปริศนาธรรมที่ครูบาอาจารย์ได้ตั้งใจสร้างพระให้เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ เป็นเครื่องมือในการสร้างความดี เพื่อให้คนทุกคนได้พัฒนาศักยภาพในการมีชีวิต นอกเหนือจากคำสอนทางพุทธศาสนาที่ดีเลิศหาศาสนาใดมาเทียบได้ยาก จุดมุ่งหมายในการบูชาพระของคนนั้นอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งแล้วแต่จริตของคนที่มี เป็นเรื่องแล้วแต่ภูมิธรรมของคน ในผู้มีภูมิธรรมชั้นสูงท่านไม่ต้องห้อยพระหรือมีพระพุทธรูปในบ้านเลยก็ได้ เพราะพระนั้นสถิตอยู่ในจิตปักแน่นไม่มีสูญสลายไปแล้ว
เป็นจิตที่ตื่นรู้ไม่มีวันหลับและหลงอีกต่อไป สำหรับคนที่มีจริตไม่สูง การบูชาพระเป็นเรื่องจำเป็นในการเหนี่ยวนำให้ไปสู่ความดีงามของชีวิต เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นจิต หลายคนใช้พระในการช่วยจิตในการเจริญภาวนาให้เกิดปัญญาที่ถูกต้อง หลายคนใช้เป็นสื่อช่วยเหนี่ยวนำให้จิตน้อมรับคำสอนของพระพุทธองค์ไปทีละน้อยๆ จนเข้าใจในที่สุดแต่ในความเป็นจริงพุทธปาฏิหาริย์ที่มีอยู่ในองค์พระมีอยู่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ตัวของผู้บูชาว่า มีความเข้าใจอย่างไร ปฏิบัติตนอย่างไร บูชาแบบไหน ส่วนพุทธคุณในเรื่องของการแคล้วคลาด ป้องกันภัยอันตราย รักษาโรค มีโภคทรัพย์ มีลาภไม่ขาดสายนั้น เป็นเหมือนของแถม อยู่ที่บุญและกรรมของคนที่บูชาเป็นสำคัญ เรื่องนี้เราจึงต้องเข้าใจให้ทะลุ
แต่อย่างไรก็ตามคนที่เริ่มบูชาพระนั้น ต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ชีวิตตนเจริญขึ้นอย่างน้อยก็คงเหมือนดังที่หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ พระอริยสงฆ์ที่ละสังขารไปแล้วเคยกล่าวไว้ว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล” ดังนั้นก่อนอื่นคนที่จะบูชาพระต้องทราบว่า การบูชาพระที่ถูกต้องที่สุดก็คือ “การปฏิบัติบูชา” ต่อพระพุทธเจ้าโดยตรง และในพุทธกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงการบูชาที่ถูกต้องสำหรับที่เหล่าสาวกจะบูชาพระพุทธองค์ดังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10) ว่า
“ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าเป็นผู้ที่บริษัทสักการะเคารพ นับถือ บูชา หรือนอบน้อมแล้วด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้ก็หามิได้ พุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำการสักการะตถาคต ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องหอมทั้งหลาย เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ ผู้ใดที่ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าได้ทำการสักการบูชาอันยอดเยี่ยม”
จากคำจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์นั้น คงจะทำให้ทราบทันทีว่า พระพุทธองค์ทรงยกย่อง “การปฏิบัติด้วยการกระทำ” มากกว่าการจะนำวัตถุสิ่งของใด ๆ มาบูชา เป็นการปฏิบัติทั้งทางธรรมและทางโลกอย่างเหมาะสม แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงห้ามถึงการนำสิ่งของทั้งหลายมาบูชา เพราะถือว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมาดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วเท่านั้นเอง
แต่พระพุทธองค์ทรงให้เราทั้งหลายใช้ปัญญาในการพิจารณาว่าเรื่องใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม บอกไปแล้วในศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ไม่เชื่อในการมีอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พรหมเทพเทวดา เพราะในพระไตรปิฎกมีการกล่าวในเรื่องเหล่านี้มากมาย แต่ได้วางฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธ์ พรหมเทพเทวดาทั้งหลายอยู่ในสถานะที่เหมาะสม มีวิธีบูชาที่ถูกต้อง เรื่องเหล่านี้เป็นเคล็ดวิชาสำคัญที่จะช่วยให้ท่านทั้งหลายพบกับความเป็นสิริมงคลในชีวิตเร็วมากยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณ sanook.com
จัดโต๊ะหมู่บูชา ไหว้พระในบ้าน และเคล็ดลับที่ควรทราบ
ชาวพุทธเชื่อกันว่า การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้านนั้นจะช่วยป้องกันภยันตรายและเสริมสิริมงคลให้กับผู้คนในบ้าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องจัดอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย ไม่ว่าจะเรื่องชั้นที่จัด ทิศทาง ตำแหน่ง ไปจนถึงการจัดลำดับพระ ที่นี่เรามีคำแนะนำดี ๆ พร้อมวิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระและเคล็ดลับเสริมสิริมงคลที่คุณไม่ควรพลาด
องค์ประกอบและรูปแบบ จัดโต๊ะหมู่บูชา พระ
จัดโต๊ะหมู่บูชาพระ ไหว้พระในบ้าน นิยมใช้วางโต๊ะขนาดเล็กที่มีความสูงลดหลั่นกันไปบนโต๊ะฐาน และบูชาพระด้วยกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียนอย่างน้อย 1 คู่ แจกันอย่างน้อย 1 คู่ และพานดอกไม้หรือพานพุ่มอย่างน้อย 1 พาน โดยรูปแบบโต๊ะหมู่บูชาพระที่นิยมจัดในบ้านมีดังนี้
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 3
เป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดเล็กแบบประยุกต์สำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อย โดยประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 3 ตัวสำหรับวางกระถางธูป เชิงเทียน พานดอกไม้ แจกัน และพระพุทธรูป
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 4
เป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดเล็กที่ประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 4 ตัวสำหรับวางเหมือนโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 3 แต่อาจใช้พานดอกไม้ที่ใหญ่กว่าและวางกระทงเจิมด้วยก็ได้
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 5
โต๊ะแบบนี้เป็นขนาดกลางที่ประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 5 ตัว โดยสิ่งที่เพิ่มจากโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 4 คือ พานพุ่ม โดยอาจวางพานดอกไม้ 3 พาน และพานพุ่ม 2 หรือ 4 พาน
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 7
โต๊ะแบบนี้เป็นขนาดใหญ่สำหรับบ้าน โดยประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 7 ตัว นิยมวางพระพุทธรูป องค์พระสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ วางพานพุ่ม และ/หรือพานดอกไม้เพิ่มเติมจากโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 5
โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 9
โต๊ะแบบนี้เป็นขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโต๊ะฐาน 1 ตัว โต๊ะเล็ก 9 ตัว โดยมักวางพระพุทธรูป องค์พระสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เชิงเทียน พานพุ่ม และ/หรือพานดอกไม้เพิ่มเติมจากโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 7
Comments