หลักการทำบุญในพุทธศาสนา
หลักการทำบุญในพุทธศาสนา
คำว่า บุญ ปัจจุบันเรามักใช้ควบคู่กับคำว่าทาน เช่น ทำบุญทำทาน คำว่าทำบุญ ในที่นี้คนทั่วไปมักหมายถึง การทำทานนั้นเอง คือ การให้สิ่งของแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยความเต็มใจ
แต่คำว่าบุญในทางพระพุทธศาสนามีความหมายมากกว่าการให้ บุญ หมายถึง ความดีฉะนั้นการทำความดีก็คือการทำบุญการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาการทำบุญนั้นสามารถทำได้ 10 ทาง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่
1.ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
2.สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
3.ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
4.อปวายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่ คือ ไม่ทำตัวเป็นคนพาล การทำตัวหยิ่งยโส แต่เป็นคนสุภาพอ่อนโยน
5.เวยยาวัจวมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจกรรมที่ชอบ เช่น รับใช้บิดา มารดา ผู้มีพระคุณ ครูอาจารย์รวมตลอดถึงคนที่เราไม่รู้จักแต่ต้องการ
ความช่วยเหลือจากเราในบางโอกาส โดยที่กิจการต่างๆที่เราช่วยนี้ด้วยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยประเพณี และชอบด้วยธรรม
6.ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เฉลี่ยส่วนความดีให้กับผู้อื่น
7.ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ยินดีในความดีของผู้อื่น
8.ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม คือ รับฟังความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และตั้งอยู่ในความเห็นที่ดีงาม
9.ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม คือ การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
10.ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง คือ การใช้ปัญญาไตร่ตรองอยู่เสมอว่าอะไรผิด อะไรถูก
ทานมัย การให้ทานมีวัตถุประสงค์ เพื่อขจัดความตระหนี่ ความโลภในจิตใจมนุษย์ และการให้ทานยังมีจุดประสงค์อย่างอื่น ได้แก่ เพื่อบุชาคุณ เพื่อการสงเคราะห์ เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อทำคุณ
การทำทานมี 4 ประเภทคือ
1. อามิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ
2. วิทยาทาน ได้แก่การให้ความรู้ทางโลกแก่บุคคลอื่น
3. ธรรมทาน ได้แก่ การให้ความรู้ทางธรรม
4. อภัยทาน ได้แก่ การให้อภัยซึ่งกันและกัน
การให้ทานที่กล่าวมานั้น การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง (ธม.มทานํ สพ.พทานํ ชินาติ) ทั้งนี้เนื่องจากการให้ทานอย่างอื่นมีประโยชน์เฉพาะหน้าหรือในชาตินี้เท่านั้น แต่ธรรมทานมีประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
สำหรับการทำบุญตักบาตรนั้น จะต้องมีองค์คุณ 3 ประการ จะทำให้บุญมาก คือ
1. วัตถุบริสุทธิ์
2. เจตนาบริสุทธิ์ (ก่อนให้ทานมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เต็มใจขณะให้ทาน ให้ด้วยจิตใจเบิกบาน หลังให้มีจิตใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดาย)
3. บุคคลบริสุทธิ์ (ปฏิาหก คือ ผู้รับทานเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบระงับ มีกายวาจาเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรม)
สีลมัย หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว พระองค์ทรงพิจารณาสัตว์โลกว่า ทำไมจึงมีวิบากกรรมต่างๆ กันทำไม
จึงไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกาย หรือเดรัจฉาน และทำไมจึงเกิดเป็นมนุษย์ และมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพิการ
บางคนสติปัญญาดี บางคนทรัพย์น้อย บางคนสร้างฐานะไม่ได้สักที เป็นต้น เหตุที่มนุษย์เป็นคนสมบูรณ์ คือ ศีล 5 พระองค์ทรง
บัญญัติศีล 5 เพื่อให้มนุษย์รักษา และถือเป็นหลักปฏิบัติ เป็นการป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว เช่น อบายภูมิ เป็นต้น
การรักษาศีลเป็นการขจัดกิเลสขั้นละเอียดกว่าการให้ทาน คือ ขจัดความโลภ โกรธ หลง ให้เบาบางจากจิตใจ
ทำให้มนุษย์มีความสุขกายสุขใจมากขึ้น ภาวนามัย การเจริญภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมจิตให้เจริญขึ้น ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
1. สมถภาวนา คือ การฝึกจิตเพื่อมุ่งความสงบของจิต การฝึกจิตให้มีสงบอารมณ์เดียวดิ่งแน่วแน่ มีความตั้งมั่น(หรือที่เรียกว่าสมาธิ) ซึ่งมี 40 วิธี
(กรรมฐาน 40) จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละบุคคล แต่วิธีที่นิยมกันคือ การเจริญภาวนาปานสติ
2. วิปัสนาภาวนา คือ การฝึกจิตที่สงบแล้วให้พิจารณาด้วยปัญญารู้เป็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ ที่มา : หนังสือ วิธีการทำบุญในพระพุทธศาสนา
Kommentare